Home Community สะพานคนข้าม พหลโยธิน

สะพานคนข้าม พหลโยธิน

3582
0

กับสะพานคนข้าม พหลโยธิน AriAround รู้ว่าชาวซอยอารีย์ไม่ได้หลงลืมมันไปหรอกเพราะหลายคนต้องเดินข้ามไปกลับวันละอย่างน้อยสองรอบ แต่เรื่องของเรื่องก็คือ มีน้อยคนรู้ถึงความพิเศษของสะพานลอยนี้ที่มีดีกรีถึงการเป็นสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม ได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยาม

AriAround ตามไปเจอ R.K.V. Engineering คุณระดับ กาญจนะวณิชย์ ทายาทของศาสตราจารย์ ดร.รชฏ กาญจนะวณิชย์ ผู้ออกแบบสะพานคนข้ามแห่งนี้

“เอาเรื่องยาวให้มันสั้นละกัน สะพานนี้เป็น collaboration กันระหว่าง คุณพ่อของพี่อ๋อง ศาสตราจารย์ ดร.รชฏ กาญจนะวณิชย์กับ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา”

พี่อ๋อง คุณระดับ กาญจนะวณิชย์ ในวันที่ AriAround ไปสัมภาษณ์ที่ R.K.V. Engineering ซอยสุขุมวิท 30

คุณระดับ กาญจนะวณิชย์ ทายาทของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา R.K.V. Engineering บอกกับ AriAround ถึงที่มาที่ไปของสะพานลอยสามเหลี่ยมปากซอยอารีย์ ที่หลายๆ คนยกให้เป็นแลนด์มาร์สำคัญของย่านนี้ และเริ่ม (กลับมา) ได้รับความนิยมในหมู่ café hopper กลายเป็นจุดถ่ายรูปสำคัญ เมื่อสะพานลอยนี้ปรากฏใน MV ของอิ้งค์ วรันธร 

ภาพจาก : สายตาหลอกกันไม่ได้ (Eyes don’t lie) – INK WARUNTORN [ Official MV ]

สะพานลอยนี้สร้างขึ้นใน ปีพ.ศ. 2525 ไม่นานหลังจากที่ ธนาคารกสิกรสำนักงานใหญ่สร้างเสร็จ “ธนาคารกสิกรไทยติดต่อไปทาง ดร.สุเมธ ว่าอยากจะสร้างสะพานลอยที่ไม่ใช่สะพานลอยธรรมดาทั่วไป” พี่อ๋องเล่าว่าเขาเองนั่งอยู่ในทีมออกแบบสะพานลอยนี้ด้วย และได้เห็นทุกขั้นตอนที่ ดร.รชฏ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ สเก็ตช์ภาพร่าง concept ของสะพานลอยขึ้นมาบนกระดาษ A4 แผ่นหนึ่ง “ดร.สุเมธ มาปรึกษาคุณพ่อ ทีนี้พอทาง RKV ส่งแบบกลับไป ดร.สุเมธก็ชอบมากเลย”

จากรูปเราจะเห็นได้ว่าท่อเหล็กยังถูกเชื่อมกันเป็นสามเหลี่ยมอีกด้วย เอื้อเฟื้อภาพโดยฤกษ์ดี โพธิวนากุล

แบบร่างที่เห็นเป็นแบบทางวิศวกรรมล้วนๆ ที่ทางฝั่ง R.K.V. Engineering เขียนขึ้น “เรียกได้ว่าเป็น pure structure เป็นความงามทางด้านวิศวกรรมอย่างแท้จริง” 

คำอธิบายแนวคิดการก่อสร้างอื้อเฟื้อภาพโดยฤกษ์ดี โพธิวนากุล

ความงามที่พี่อ๋องกล่าวถึง คือความงามทางความคิด concept ของ ดร.รชฏ ที่มาจากบริบทของปากซอยอารีย์ซึ่งเป็นสามแยกรูปตัว T ดังนั้น เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อสามฝั่งถนนให้สั้นที่สุด ดร.รชฏ จึงออกแบบให้ทางเดินข้ามมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม (∆) คร่อมบนปากซอยอารีย์ เพื่อร่นระยะทางการเดินข้ามฝั่งถนนให้สั้นที่สุด 

รูปทรงสามเหลี่ยมยังถูกต่อยอดมาเป็นรูปทรงของโครงเหล็กด้วย พี่อ๋องบอกกับ AriAround ว่าสิ่งนี้มีชื่อว่า space truss ซึ่ง space truss นี่เองก็ทำให้เกิดเป็นอุโมงค์ทางเดินรูปสามเหลี่ยม และถ้าลองสังเกตดีๆ เราจะเจอกับสามเหลี่ยมอีกองค์ประกอบซึ่งก็คือ เสารับน้ำหนักทั้ง 3 ต้นของสะพาน

โมทีฟสามเหลี่ยม ยังรวมถึงการถักกันของเหล็กกลมที่ประสานกันเป็น space truss

เท่ากับว่า สะพานคนข้ามแห่งนี้มีสามเหลี่ยมซ่อนอยู่เต็มไปหมด แต่ช้าก่อน สะพานนี้ไม่ได้เกี่ยวกับองค์กรลับอิลลูมินาติแต่อย่างใด เพราะแท้จริงแล้วโครงสร้างแบบ space truss ที่ฟังดูยากๆ อันนี้ ก็คือรูปแบบโครงสร้างที่ใช้กับสะพานทางรถไฟ หรือสะพานข้ามแม่น้ำที่มีข้อจำกัดในการสร้างต่อม่อในน้ำ สะพานคนข้าม พหลโยธิน แห่งนี้มีวิธีการสร้างที่คล้ายกัน คือก่อตอม่อขึ้นมาก่อน 3 ต้น ก่อนจะใช้เครนยกชิ้นส่วนเหล็กลอยขึ้นไปวางพาดตอม่อและเชื่อมเข้าด้วยกัน ในปัจจุบันสะพานกลายเป็นสีขาวไปแล้ว หลังการมาถึงของคอนโด Noble Reform ในปี 2013 – 2014 แต่ถ้ายังจำกันได้ สะพานคนข้าม พหลโยธิน สีดั้งเดิมคือสีเขียว CI เก่าของธนาคารกสิกร

สามเหลี่ยมสมมาตรของ สะพานคนข้าม พหลโยธิน

ย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีก่อน ไม่เคยมีใครเห็นสะพานคนข้ามแบบนี้มาก่อน “เมื่อสะพานสร้างเสร็จก็เป็นที่ฮือฮามาก เรียกได้ว่าคนมาถ่ายหนังภ่ายโฆษณากันเยอะเลย” และที่เจ๋งกว่านั้นคือ สะพานแห่งนี้ได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยาม ได้รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น สาขาอาคารสาธารณะประโยชน์ 

“ทุกวันนี้ก็ยังดูทันสมัย” พี่อ๋องทิ้งท้ายกับ AriAround