เดินทะลุซอยอารี 4 ฝั่งเหนือไปเรื่อยๆ ผ่าน GUMP’s Ari ครัวตุ่มอิงน้ำ ทะลุซอยชำนาญอักษร เราจะมาถึงซอยพหลโยธิน 9 หรือที่เรียกกันตั้งแต่เก่าก่อนว่า “ซอยสีฟ้า” 

“คุณปู่ สุข นุตสถิตย์ (ขุนสถิตวิทยาศาสตร์) มาซื้อที่ตรงนี้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” AriAround คุยกับ คุณธิดาภรณ์ พร้อมภูล (แอน)  มา เธอเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ที่อาศัยในบ้านหลังนี้มาตั้งต้นปี พ.ศ. 2500

ซอยสีฟ้าเป็นซอยตัน อยู่กึ่งกลางระหว่างซอยอารีและซอยเสนาร่วม คุณแอน เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเธอและพี่น้องจะต้องเดินไปซอยเสนาร่วมเป็นประจำ ไปจ่ายกับข้าวที่ร้านขายของชำหน้าปากซอย (ปัจจุบันคือร้านเบเกอรี่ สีฟ้า) “เวลาเด็กๆ ในบ้านป่วยๆ แม่ก็จะพาไปกวาดคอกับหมอจวง (จวง ภักดีชุมพล) ที่ซอยเสนาร่วมเป็นประจำ” 

ถ้าคุณปู่ สุข นุตสถิตย์ มีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน ท่านคงอายุแตะๆ 100 ปี เข้าไปแล้วแล้ว แต่ก่อนริมถนนพหลโยธินบ้านอยู่ไม่กี่หลัง “ปากซอยสีฟ้าก็จะมีบ้านของท่านเจ้าคุณสาลีรัฐวิภาคเป็นบ้านหลังใหญ่ ถัดมาก็เป็นบ้านของครอบครัวเรา คุณปู่ซื้อที่ตรงนี้มาราคา 400 บาท (!!) จากนาย เล็ก นานา ตระกูลคหบดีเชื้อสายอินเดีย และด้วยความที่บ้านของตระกูลสาลีรัฐวิภาคริมถนนพหลโยธิน มีรั้วเป็นไม้ทาสีฟ้ายาวตลอดแนว”

คนนั่งรถเมล์ผ่านไปผ่านมา ก็บอกกระเป๋าว่า ลงตรง “บ้านรั้วสีฟ้า” นี่แหล่ะ ไปๆ มาๆ ก็เลยกลายเป็นชื่อ “ซอยสีฟ้า” ไปโดยปริยาย

หลายคนเกิดไม่ทันเห็นรั้วสีฟ้าที่ว่าเพราะครึ่งหนึ่งของบ้านสาลีรัฐวิภาคกลายเป็นอาคาร AIS 2 ไปเรียบร้อยแล้ว อารีและซอยอื่นๆ ในย่านนี้ เดินอยู่บนเส้นทางของความเปลี่ยนแปลง จากการมาถึงของเหล่าคอนโดมิเนียมทั้งหลายแหล่ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องดี (และหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน) ที่ย่านเปิดรับพลังงานใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสัน แต่ทว่า “สงสัยพวกเราจะถูกบีบโดยคอนโดฯ ไปโดยปริยาย”

คุณแอนเป็นหนึ่งในสมาชิก “กลุ่มอนุรักษ์พญาไท” ที่มีบทบาทมากๆ ในการต่อต้านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะมาเพิ่มความแออัดให้กับย่าน โดยขาดแผนการจัดการด้านจราจร การระบายน้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม ที่ practical ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าซอยสีฟ้าเป็น community ที่มีการรวมตัวกันเข้มแข็งมากทีเดียว 

บรรยากาศความสงบเดิมๆ เริ่มหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาที่เข้ามาใหม่ควรจะเข้าใจบริบทดั้งเดิมและเคารพวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัยเดิมด้วย ปัจจุบันย่านนี้ เต็มไปด้วยผู้อยู่อาศัยชั่วคราว ส่วนมากเป็นพนักงานออฟฟิศและผู้คนที่เข้ามาอาศัยตามหอพักและคอนโด หากทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน และช่วยกัน “ดูแลรักษา” พื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่ “ใช้งาน” พื้นที่อารีและซอยอื่นๆ ในย่านนี้จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

เพราะไม่ว่าจะเป็นคนดั้งเดิม / ชั่วคราว ทุกคนล้วนแต่เป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

หมายเหตุ : ปี พ.ศ. 2508 ตระกูลสาลีรัฐวิภาคได้อุทิศที่ดินริมถนนพหลโยธิน บริเวณแยกสะพานควายแก่กรุงเทพฯ มหานคร เพื่อตัดถนนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างถนนประดิพัทธิ์ฃ ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และถนนอินทามาระ

ภาพประกอบ : เพจตำนานบรรดาเรา