คาแร็กเตอร์ตัวนี้มาจากพี่แชมป์ เพื่อนบ้านของ #AriAround หนึ่งในชาว Tinkering pot และผู้จัดนิทรรศการ Hotel interim / BKKDW Ari-Pradipat #BKKDW2021 กับการเป็นผู้สังเกตการณ์ โดยเฉพาะอารีย์ ซอย 4 ฝั่งเหนือ ระหว่างเตรียมการจัดงานที่ Josh Hotel 

“จริงๆ เราอยากวาดอะไรที่เราเห็นอยู่ตอนนั้น เห็นเขาฮิตสเก็ตบอร์ดกัน เราก็อยากวาดตัวอะไรที่ท่ากวนตีนๆ อยู่บนสเก็ตบอร์ด แล้วก็มองวัยรุ่นแถวนี้แหละ เพราะว่าวัยรุ่นเยอะ แล้วก็มอง culture ของคาเฟ่ เพราะเราไปทำงานที่ Josh จะเห็น GUMP’s ทุกวัน ก็เป็นสายตาคนแก่มองเด็กๆ คือไม่ได้มองว่ามันดีหรือไม่ดีนะ ก็แค่มอง และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้คาแร็กเตอร์ตัวนี้อยู่ตรงหน้า GUMP’s นี่แหละ”

พี่แชมป์ผูกพันกับอารีย์-ประดิพัทธ์ เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนย่านสมัยที่เติบโตแถวสุทธิสาร โดยมีอารีย์เป็นที่นัดพบปะเพื่อนฝูงบ้าง จนกระทั่งได้มาทำงานและเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเองในย่านประดิพัทธ์ นั่นทำให้เขามองเห็นความผูกพันระหว่างผู้คนกับพื้นที่มาโดยตลอด

“อารีย์ คือเราเริ่มไปตอนมหาลัยแล้ว ตอนนั้นไม่ได้เที่ยวสยาม ก็หาร้านกาแฟนั่งก็จะเป็นร้านวาวี ซึ่งมีอยู่ร้านเดียวเมื่อก่อน ร้านใหญ่ๆ แต่เงียบ น่ารักๆ สไตล์ร้านกาแฟยุคนั้น พอโตขึ้นก็วนเวียนอยู่แถวนี้ ทำงานอยู่ที่ประดิพัทธ์ เคยไปอยู่คอร์ตที่พหลโยธิน 10 มา 3 ปี คือชีวิตเราก็จะวนเวียนอยู่แถวนี้”

จากอดีตที่เคยเข้ามาเป็นฟรีแลนซ์ให้บริษัทในย่านประดิพัทธ์ จนตอนนี้พี่แชมป์เปิดออฟฟิศเป็นของตัวเองในละแวกเดียวกันเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว เหตุผลก็เพราะความบ้านๆ เข้าใจง่าย อยู่ง่ายของประดิพัทธ์

“จริงๆ สมัยก่อนคนไม่ค่อยเยอะ ออฟฟิศก็จะเป็นเอเจนซี่โฆษณา บริษัทอีเวนท์ใหญ่ๆ ซึ่งตรงนี้ที่จอดรถเยอะ เงียบ แล้วเป็นอาคารชั้นเดียว เราก็ชอบบรรยากาศมันดูบ้านๆ homey ก็เลยเช่าออฟฟิศอยู่ตรงนั้น”

ยังชอบความเป็นประดิพัทธ์ตรงที่ยังมีความบ้านๆ อยู่ มันยังไม่เจริญเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เริ่มสะดวกสบายมากขึ้นในสเกลที่พอดี เข้าถึงกันได้หมด

แม้อารีย์-ประดิพัทธ์ จะเป็นย่านกลางเมืองที่สะดวกสบาย สาธารณูปโภคครบครัน แต่ในมุมมองของพี่แชมป์ยังมีสิ่งหนึ่งที่เขา และหลายครอบครัวในย่านอารีย์ต้องการ นั่นก็คือพื้นที่ส่วนกลางที่แท้จริงสำหรับชุมชน

“เราคุยกันกับเพื่อนแถวนี้ที่พึ่งมีลูก เราว่าย่านนี้มันไม่ค่อยมีพวกสิ่งที่เป็นห้องสมุดชุมชน หรืออะไรที่เป็นย่านชุมชนที่ตอบกับความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ตรงนี้จริงๆ อย่างโปรเจ็คต์สนามเด็กเล่นที่เพื่อนเราพยายามผลักดันอยู่ ก็เกิดจากพอมองไปจริงๆ แล้วฝั่งอารีย์-ประดิพัทธ์ มันไม่มีพื้นที่สำหรับเด็กหรือชุมชนมาร่วมทำกิจกรรมกัน หรือถ้าจะหาสวนสาธารณะก็ต้องวิ่งไปถึงพระราม 6 คือโซนนี้มันไม่ได้มีพื้นที่สำหรับคนอยู่อาศัยจริงๆ ในชุมชน”

อาจจะคาดหวังเยอะไปนะ เพราะเมืองไทยมันก็พื้นที่สีเขียวไม่มาก แต่เราว่าพวกนี้มันจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง มันช่วยให้คนไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ในห้อง แล้วพยายามออกไปมีสัมพันธ์กับสังคมบ้าง