Home History ซอยศุภราช (พหลโยธิน 14)

ซอยศุภราช (พหลโยธิน 14)

2259
0
เครดิตภาพ : เมืองเก่าเล่าใหม่

ข้อดีของการทำคอนเท็นต์เกี่ยวกับย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์คือ มันพา AriAround ไปรู้จักคนเก่าคนแก่ในระแวกนี้ ครั้งนี้เราได้พบกับ พลโท ดร. สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ แห่งซอยศุภราช ผู้ย้ายเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ปัจจุบันอายุ 78 ปี แต่ยังมีความจำดีอย่างไม่น่าเชื่อ

พลโท ดร. สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นบุตรชายของ หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ (สอ้าน รมยานนท์) ปูชนียบุคคลในแวดวงกฎหมายเมืองไทย ผู้เขียนตำรา “ประวัติศาสตร์กฎหมาย ชั้นปริญญาโท” ครอบครัวสุธิวาทนฤพุฒิย้ายจากบ้านพักที่จังหวัดนครปฐมมายังซอยศุภราชในปี พ.ศ. 2491 ด้วยเหตุจำเป็นเมื่อหลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ (ขณะนั้นเป็นประธานศาลจังหวัดนครปฐม) ต้องเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในพระนคร 

หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ ภาพถ่ายจาก ประวัติศาสตร์กฎหมาย ชั้นปริญญาโท เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ พ.ศ. 2529

“คุณพ่อซื้อที่เอาไว้ก่อนแล้ว ซื้อจาก ขุนประสิทธ์สหกรณ์ ตรงนี้คือบ้านเลขที่ 8ง หมู่ 7 ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต ถนนประชาธิปัตย์” 

ถ้าสงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์มาเกี่ยวอะไรกับตรงนี้ จากการค้นคว้า (จนถึงตอนนี้) ผู้เขียนคิดว่าไม่เกี่ยวกัน “ประชาธิปัตย์” คือชื่อเดิมของถนนพหลโยธิน ซึ่งเริ่มใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์สายทหาร

ภาพเปรียบเทียบระหว่างแผนที่ปัจจุบัน (ซ้าย) และแผนที่เก่า* (ขวา)
*อ้างอิงจาก : แผนที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2449 – 2484
โดยอาจารย์ ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร และคณะ (2550)

ขอวกกลับมาเรื่องซอยศุภราชที่จะเล่าวันนี้ก่อน พลโท ดร. สมัยรบ เล่าว่า

“ซอยศุภราชเคยเป็นคลอง ที่จำได้เพราะยังฝันเห็นอยู่ทุกคืน ถนนเป็นดินโรยอิฐชุ่ยๆ ติดกับรั้วบ้านเราเป็นคลองขุด ขนานไปกับซอย หน้าบ้านจึงต้องมีสะพานเล็กๆ ไม่ทำใหญ่เพราะเดี๋ยวควายจากสะพานควายจะเดินเข้าบ้านมาเป็นฝูง” 

แน่นอนว่าในวันนี้ฝูงควายหายไปแล้วเหลือแต่ก็แค่ชื่อสะพานควาย ร่องรอยอดีตที่ยังเหลืออยู่คือ ตอม่อประตูบ้าน พลโท ดร. สมัยรบ ที่เคยถูกใช้เป็นตอม่อสะพานมาก่อน แต่ที่น่าสนใจมากๆ คือ ลักษณะของถนนซอยศุภราชที่เข้าซอยไปแลัวหักเลี้ยวขวาทันที พลโท ดร.สมัยรบ เฉลยว่ามันเป็นเพราะ “ถนนที่เห็น มันก็คือคลองศุภราชในอดีต และที่มันเลี้ยวหักศอกน่ะก็เพราะว่ามันเลี้ยวตามคันนา มันก็คือคลองเข้านานั่นเอง มันถึงได้คดไปตามที่คนต้องการเอาน้ำเข้าที่นาไงล่ะ!” เรียกได้ว่าเป็นร่องรอยอดีตที่ชัดเจนมากๆ แต่เรากลับมองไม่เห็นมาตลอด ส่วนถนนแคบๆ ด้านซ้ายข้างโรงแรมเก่า นั่นคือถนนใหม่ที่ตัดให้หลังต่างหาก

ภาพถ่ายทางอากาศโดย Peter Williams-Hunt บันทึกเมื่อ พ.ศ. 2489 สองปีก่อนที่ ครอบรัวหลวงสุทธิวาทนฤพุฒิจะย้ายมายังซอยศุภราช จะเห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา

แทบจะทุกซอยบนถนนพหลโยธินนับจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นต้นมา (หรืออาจจะส่วนมากในกรุงเทพฯ) เคยเป็นถนนส่วนบุคคลที่เอกชนตัดขึ้นเพื่อจัดสรรที่ดินกันเองทั้งสิ้น ก่อนจะรวมตัวกันไปยื่นคำร้องให้รัฐเข้ามาปรับปรุงเป็นถนนหลวง ไม่แปลกใจที่ซอยในกรุงเทพฯ บางซอยทะลุไปออกไหนต่อไหนได้เยอะอย่างไม่น่าเชื่อ และในทางกลับกัน ก็มีซอยตันเยอะอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนกัน 

ตอม่อสะพานในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นตอม่อประตูทางเข้าบ้าน

ส่วนประเด็นว่าทำไมคลอง (ซอย) นี้ถึงได้ชื่อว่า “ศุภราช” ยังคงเป็นปริศนาต่อไป เพราะมันคงชื่อศุภราชมาตั้งแต่ก่อนที่อาจารย์จะเกิดด้วยซ้ำ มีหลายคนพูดถึง “ทุ่งศุภราช” เราคงต้องขอเก็บเป็นการบ้านหาข้อมูลค้นคว้ากันต่อไป 

บรรยากาศซอยศุภราชในปัจจุบัน (ซ้าย) ซอยเล็กที่ตัดใหม่ในภายหลัง เชื่อมต่อกับถนนอินทามระ (ขวา) ซอยเลี้ยวหักศอกอีกครั้งไปเชื่อมกับซอยสายลม

สะพานควายอยู่ตรงไหน

อีกหนึ่งภาพในฝันของ พลโท ดร.สมัยรบ คือรถเมล์ที่วิ่งผ่านหน้าปากซอย เป็นรถเมล์สายประหลาดที่วิ่งระหว่างสนามเป้าถึงสะพานแดง ผู้เขียนเดาว่ามันเป็นรถรับส่งทหาร “เชื่อไหมว่าแถวนี้มันเงียบซะจน ผมนั่งอยู่ในบ้านตรงนี้ (บริเวณร้านอย่างเก่าก่อน) ยังได้ยินเสียงคนตะโกนจอดป้าย “จอดดด หมอจวงงงงง” ดังลั่นทุ่ง” 

สีแยกสะพานควายในปี พ.ศ. 2531 ภาพถ่าย : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่

พลโท ดร. สมัยรบ บอกกับ AriAround ว่าตอน 6 ขวบ โลกข้างนอกบ้านสำหรับเขาก็มีแค่ กาติ๊บ (ซอยอารีย์ในปัจจุบัน) หมอจวง (ซอยเสนาร่วม) สามแยก บ้านเหลืองถนนประดิพัทธ์ (บ้านพักของหลวงเสรีเริงฤทธิ์) บรรยากาศของถนนพหลโยธินแถวๆ ซอยศุภราชจนถึงสะพานควายเป็นทุ่งนา และนาร้างที่หมดสภาพความเป็นนา เป็นที่ดินโล่งๆ มองไปเห็นบ้านไม้ตั้งอยู่ห่างๆ กัน ถนนประชาธิปัตย์มีคลองเล็กๆ ตีคู่กันไป ยังมีเรือจ้างแหวกผักตบชวากับขยะต่างๆ ในน้ำ “พายแทบจะไม่ได้แล้ว ต้องค้ำถ่อ พวกนี้เขาเอาของใส่เรือขนเอาไปให้วัวให้ควายกิน” พลโท ดร.สมัยรบ กล่าว

“สามแยก” ที่พูดถึงข้างต้นคือสี่แยกสะพานควายในปัจจุบันนั่นเอง ที่เป็นสามแยกก็เพราะเป็นจุดที่ถนนประดิพัทธ์ตัดมาชนกับถนนประชาธิปัตย์ และถนนสาลีรัฐวิภาคยังไม่ถูกตัดขึ้นในสมัยนั้น

“ตอนอายุ 6 ขวบ จำได้แม่นเลยว่าเคยไปนั่งดูรถเมล์ที่สามแยก เดินออกทางหลังบ้าน ผ่านที่นาร้างๆ ไปนั่งริมถนน สะพานควายมันก็คือสะพานข้ามคลองริมถนนประชาธิปัตย์ฝั่งตะวันตกที่ข้ามมาจากถนนประดิพัทธ์ไงล่ะ เขาจะต้อนควายเดินข้ามสะพานมาทำนานแถวๆ นี้” 

เป็นอันว่าหายสงสัยไปอีกอย่างว่าสะพานควายอยู่ตรงไหนกันแน่