สำหรับศิลปินคนที่ 4 ของ #AriAround นั่นคือ Peeraphat K. หรือพี่พี กราฟิกดีไซเนอร์ที่อยู่ในย่านประดิพัทธ์​มาตั้งแต่เริ่มต้นตั้งออฟฟิศออกแบบ P.Library ที่ 33 Space Pradipat เมื่อ 12 ปีที่แล้ว พร้อมกับการย้ายถิ่นฐานมาเป็นชาวอารีย์-ประดิพัทธ์อย่างเป็นทางการ (และจักรยานคู่ใจอีกหนึ่ง)

“ย่านนี้ถือเป็นย่านที่เราชอบที่สุดในกรุงเทพฯ​ ในแง่ที่มันไม่วุ่นวายเกินไปเหมือนย่านธุรกิจกลางเมือง มีร้านอาหาร ร้านกาแฟเยอะขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทุกวันนี้กลายเป็นย่านที่เสาร์-อาทิตย์ มีเด็กๆ วัยรุ่นมาเดินเล่นถ่ายรูปเต็มไปหมด เราชอบนะ รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เสาร์-อาทิตย์มีที่อื่นให้คนไปใช้ชีวิตนอกจากห้างบ้าง มันเหมือนกับเวลาเราไปเที่ยวเมืองนอก แล้วไปเดินย่านต่างๆ ที่มีคนมาเดินเล่นกันเยอะๆ แบบนั้น ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าไม่เคยมีที่แบบนี้ในกรุงเทพฯ เท่าไหร่”

จากบุคลิกของผู้คนที่รู้จัก พบเห็น และสังสรรค์ในย่าน พี่พีสานต่อกลายมาเป็นคาแร็กเตอร์ ‘ฟอเรสต์กัมป์กินขนมปังกัญชา’ ที่มีแรงบันดาลใจจากเพื่อนและชุมชนรอบตัวในอารีย์-ประดิพัทธ์

“ตัวนี้มาจากเพื่อนที่ทำร้านกาแฟ ทำขนมปังขายอยู่ อยากวาดลูกค้าที่เป็นฮิปสเตอร์ร้านนี้ ก็จะมึนๆ หน่อย แล้วก็มีแมวแม่บ้านญี่ปุ่น วัยรุ่นเกาหลี จริงๆ ก่อนโควิดเราจะเจอพวกนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ คนผู้หญิงนี่ก็เพื่อนที่เป็นเจ้าของร้านกาแฟนี่แหละ”

รวมๆ คาแรคเตอร์มันจะดูบ้านๆ สบายๆ เหมือนกับความรู้สึกที่เรามีต่อย่านนี้

ไม่ว่าจะมองไปทางไหนในย่านอารีย์ เราก็จะพบกับบ้านโมเดิร์นยุคเก่าที่ถูกปรับการตกแต่งให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดยยังคงสถาปัตยกรรมและพื้นที่รอบบ้านดั้งเดิมเอาไว้ นั่นคือเสน่ห์ที่เป็นลายเซ็นของอารีย์ในสายตาของพี่พี และเป็นมุมมองของพี่พีที่อยากจะเห็นต่อไปในพื้นที่อารีย์-ประดิพัทธ์ที่เขารัก

“อยากเห็นการเอาอาคารเก่ามารีโนเวท ปรับปรุงให้เป็นธุรกิจที่ใช้งานได้มากกว่าทุบทิ้งแล้วทำใหม่หมด อย่างบ้านที่เป็นร้าน tokyobike เก่านั่นสวยมากๆ สวยกว่าสาขาในโตเกียวอีก แต่ตอนนี้โดนทุบทิ้งสร้างเป็นตึกไปแล้ว เสียดายมาก แล้วแถวนี้ก็อยากให้มีร้านค้า หรือสถานที่ประเภทอื่นๆ บ้าง อย่างร้านหนังสือ ร้านขายของจุกจิก หรือแกลเลอรี่ เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ตอนนี้มีแต่คาเฟ่กับร้านอาหาร”

อย่างที่เราเล่าตอนต้นว่า พี่พีมีจักรยานคู่ใจอยู่ด้วยหนึ่งคัน ซึ่งเป็นยานพาหนะที่พาพี่พีเดินทางภายในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ได้แบบสบายๆ การสนับสนุนการใช้จักรยานภายในย่านด้วยการทำจุดจอดจักรยานที่ใกล้กับรถไฟฟ้า จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังที่พี่พี (และเรา) อยากจะเห็นเกิดขึ้นจริง

เพราะจริงๆ กรุงเทพฯ ไม่ได้เหมาะกับการปั่นจักรยานข้ามโซน แต่การให้คนใช้จักรยานภายในโซนแล้วออกมาต่อกับขนส่งสาธารณะอื่นสามารถทำได้มากกว่า

และเรื่องสุดท้ายที่พี่พีขอ “พวกตึกเก่าๆ โรงแรมเก่าที่ร้างๆ ถ้าเกิดเรารวยมากๆ คงไปขอซื้อต่อมาทำโครงการ mixed-use ดีๆ แบบใช้งานได้จริง ไม่ได้เอาไว้ให้เด็กมาถ่ายรูปอย่างเดียว … แต่น่าจะเป็นไปไม่ได้ ฝากคนรวยๆ ไปทำให้หน่อยละกัน”